แต่งงานจีน .. สไตล์จีนโบราณ

ภาพหุ่นจำลองการกราบไหว้ฟ้าดินในงานแต่งงานจีนตามธรรมเนียมโบราณ

“ หนึ่ง .. คำนับฟ้าดิน 一拜天地
สอง .. คำนับพ่อแม่ 二拜高堂
สาม .. คำนับกันและกัน 夫妻对拜
ส่งตัวเข้าห้องหอ” 送入洞房

เป็นวลีในพิธีกราบไหว้ฟ้าดิน (拜堂) ที่ได้ยินกันบ่อยครั้งในหนังจีนกำลังภายใน
โดยพิธีดังกล่าวเป็นพิธีการหนึ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับพิธีแต่งงานแบบจีนโบราณ

การแต่งงานในสังคมจีนนั้น เริ่มปรากฎครั้งแรกในตำนานเทวะของจีน
เล่าถึงเทพธิดาหนี่ว์วา ผู้สร้างมนุษย์ ได้แต่งงานกับ ฝูซี พี่ชายของตัวเอง
ต่อมาในบันทึกประวัติศาสตร์ “ทงเจี้ยนไว่จี้” ได้กล่าวถึงชายหญิงเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน
เมื่อแต่งงานจะใช้หนังกวางต่างสินสอดทองหมั้นและในยุคต่อมานอกจากหนังกวางแล้ว ยังเพิ่มธรรมเนียมบอกกล่าวพ่อแม่เข้ามาด้วย
กระทั่งกาลเวลาล่วงเลยมาถึงราชวงศ์เซี่ย (2,100-1,700 ปีก่อนคริสต์ศักราช)และซาง (1,700-1,100 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ก็ปรากฎประเพณีรับเจ้าสาวเข้าบ้าน

อักษร “ซวงสี่” หรือ “ซังฮี้” หมายถึง มงคลคู่ ใช้ติดในพิธีมงคลสมรสเพื่อความเป็นสิริมงคล

เดิมทีชาวจีนสมัยก่อนเรียกพิธีแต่งงานว่า ”昏礼” (ฮุนหลี่) แปลตรงตัวว่า “พิธีกรรมยามโพล้เพล้”
เพราะงานสมรสส่วนใหญ่มักจัดขึ้นในยามเย็น กระทั่งแผลงมาเป็นคำว่า “婚礼” (ฮุนหลี่) ในปัจจุบัน
หลักสำคัญที่ขาดไม่ได้ในงานแต่งงานตามความเชื่อจีนโบราณก็คือหลัก “3 หนังสือ 6 พิธีการ” (三书六礼)

3 หนังสือที่กล่าวถึงนั้น ได้แก่

  1. หนังสือหมั้นหมาย
  2. หนังสือแสดงสินสอด
  3. หนังสือรับตัวเจ้าสาว

ส่วน 6 พิธีการเป็นขั้นตอนการปฏิบัติที่เริ่มตั้งแต่การหมั้นกระทั่งถึงพิธีแต่งงาน ได้แก่

  1. สู่ขอ
    ผู้ใหญ่ฝ่ายชายและแม่สื่อเดินทางไปสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิงพร้อมมอบของขวัญที่มีความหมายมงคลให้แก่บ้านผู้หญิง
    ส่วนครอบครัวฝ่ายหญิงเองจะถือโอกาสนี้สอบถามแม่สื่อเกี่ยวกับครอบครัวฝ่ายชาย
  2. ขอวันเดือนปีเกิด
    หลังจากสู่ขอสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะมอบวันเดือนปีเกิดของลูกสาวให้แก่บ้านฝ่ายชายเพื่อนำไปเสี่ยงทาย
  3. เสี่ยงทาย
    หลังจากรับแผ่นกระดาษบันทึกวันเดือนปีเกิดฝ่ายหญิงมาแล้ว พ่อแม่ฝ่ายชายจะนำแผ่นวันเดือนปีเกิด
    ไปวางไว้หน้ารูปปั้นเทพเจ้าหรือบนโต๊ะบูชาบรรพบุรุษ เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบรรพบุรุษชี้แนะว่า
    การแต่งงานครั้งนี้จะนำโชคดีหรือร้ายมาสู่ครอบครัวว่าที่คู่บ่าวสาวดวงชงกันหรือไม่
    หากไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงความไม่เป็นมงคลเกิดขึ้น การเตรียมงานแต่งก็เริ่มขึ้น ณ บัดนี้
  4. มอบสินสอด
    ฝ่ายชายส่งหนังสือหมายหมั้น และหนังสือแสดงสินสอดมายังบ้านฝ่ายหญิงโดยก่อนวันสมรส 1 เดือน-2 สัปดาห์
    ครอบครัวฝ่ายชายจะเชิญญาติที่เป็นหญิง 2 หรือ 4 คน (ต้องเป็นหญิงที่มีความสุขพร้อม)
    พร้อมทั้งแม่สื่อ นำสินสอดทองหมั้นไปให้ฝ่ายหญิงและครอบครัวฝ่ายหญิงก็จะมอบของขวัญตอบ
  5. ขอฤกษ์
    ครอบครัวฝ่ายชายรับหน้าที่หาฤกษ์งามยามดีจัดงานและนำวันที่ได้ไปขอความเห็นจากฝ่ายหญิง
  6. รับเจ้าสาว
    ในวันมงคลสมรส เจ้าบ่าวในชุดพิธีการ พร้อมด้วยแม่สื่อ ญาติสนิท มิตรสหาย เดินทางไปรับเจ้าสาวที่บ้าน
    เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว เจ้าบ่าวต้องไปเคารพศาลบรรพชนของฝ่ายหญิงหลังจากนั้นก็รับเจ้าสาวขึ้นเกี้ยวมาทำพิธีกราบไหว้ฟ้าดิน
    ที่บ้านฝ่ายชาย (ขณะออกเดินทางครอบครัวฝ่ายหญิง บางครอบครัวจะนำน้ำสะอาดสาดตามหลังเกี้ยว
    หมายถึง ลูกสาวแต่งงานไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นสมาชิกของครอบครัวฝ่ายชาย เหมือนน้ำที่สาดออกไป)
    เมื่อเสร็จพิธีไหว้ฟ้าดินแล้วก็ถือว่าบ่าวสาวทั้งสองเป็นสามีภรรยากันโดยถูกต้อง

จากนั้นก็ส่งตัวทั้งคู่เข้าสู่ห้องหอ

หนุ่มอังกฤษ ผู้ชื่นชมประเพณีจีน ขอจัดพิธีแต่งงานแบบจีนโบราณ โดยในภาพเจ้าบ่าวรับเจ้าสาวขึ้นเกี้ยว เพื่อพาไปเข้าพิธีแต่งงาน

หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามหลัก “3 หนังสือ 6 พิธีการ” ไป ก็ถือว่างานแต่งนั้นไม่สมบูรณ์ อาจส่งผลร้ายต่อชีวิตคู่ได้
โดยหลักการดังกล่าวนั้นเริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (1,100-771 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ตามที่พบหลักฐานครั้งแรกใน “บันทึกพิธีการ” หมวดพิธีแต่งงาน

ในยุคสมัยต่อๆ มา จีนยังคงยืดหลัก “3 หนังสือ 6 พิธีการ” ของราชวงศ์โจวเป็นบรรทัดฐาน
แต่เนื่องจากความแตกต่างทางด้านสังคม การเมืองของแต่ละยุคสมัย ทำให้รายละเอียดต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักการดังกล่าวตามสถานการณ์
ดังเช่น ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นจนถึง ราชวงศ์เหนือใต้ (202 ปีก่อนประวัติศาสตร์-ค.ศ.589) รัชทายาทอภิเษกสมรสไม่มีธรรมเนียมการเดินทางไปรับเจ้าสาว

ต่อมาในสมัยฮั่นตะวันออกถึงจิ้นตะวันออก (ค.ศ.25-420)
ยิ่งมีความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสังคมไม่สงบ ไม่สามารถปฏิบัติให้ครบหลัก 6 พิธีการได้
จึงทำได้แค่การกราบไหว้พ่อแม่สามีเท่านั้น แม้แต่การจัดงานแต่งงานอย่างเป็นทางการก็ถูกละเว้นไป

กระทั่งถึงราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) และถัง (ค.ศ.618-907)
พิธีอภิเษกสมรสของรัชทายาทก็ฟื้นประเพณีรับเจ้าสาวอีกครั้ง ราชนิกูลต่างๆ จะอภิเษกสมรสก็ต้องยึดตามธรรมเนียม 6 พิธีการอย่างเคร่งครัด

แม้ว่าในสมัยราชวงศ์ซ่ง ชนชั้นสูง ขุนนางต่างๆ ยังคงยึดมั่นใน 6 พิธีการ แต่ในหมู่ชาวบ้านนั้นเริ่มมองว่าพิธีการดังกล่าวยุ่งยากและซับซ้อนเกินไป
จึงลดพิธีการเหลือเพียงแค่ 4 ขั้นตอนเท่านั้น โดยตัดขั้นตอน “ขอวันเดือนปีเกิด” “เสี่ยงทาย” และ “ขอฤกษ์” ทิ้งไป
ทำให้ความสำคัญของพิธีการเหล่านี้ในยุคหลังๆ เริ่มลดลงเรื่อยๆ

ขอขอบคุณบทความดีดีจาก อู่วัฒนธรรม ผู้จัดการออนไลน์